menu
วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553
Focus Abroad ตอน อาจารย์ กบ พิธีกรรายการอยู่สบาย จบ ป.โทจากอเมริกา 3 ใบ อังกฤษ 1ใบ
Focus Abroad อ.กบ อยู่สบาย
แฟน ๆ บล๊อกของ โอเคเนชั่น ได้ชมรายการอยู่สบาย ทางเนชั่นแชนแนล
อ.กบ หรือชื่อเต็ม ๆ คือ อ.กฤษณพงศ์ เกียรติศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการอยู่ นอกจากนี้ยังมีรายการวิทยุ บรรณาธิการนิตยสาร Wallpaper, อาจารย์มหาวิทยาลัย,สถาปนิค เห็นผลงานเยอะอย่างนี้ เป็นเพราะความเก่ง จบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากนั้นไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ในระดับปริญญาโทถึง 4 ใบ ได้แก่
ป.โทด้านสถาปัตย์จาก University of California, Los Angeles
ป.โทด้านสถาปัตย์จาก University of California, Berkeley
MBA จาก University of California, Berkeley
ป.โท จาก Royal College of Art ประเทศอังกฤษ
คุณสุลักษณา กาญจนะ (คุณอุ๊) และ คุณมาลินี ฉงสกุล (คุณอุ๋ย) สองพิธิกร ผู้ดำเนินรายการ Focus Abroad ต้องมาถามเจาะลึกกันนิดถึงพิธกรด้านสถาปัตย์ ทำไมถึงเรียนเยอะขนาดพร้อมกับ แนะนำน้องๆ ที่สนใจจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ
คำถามแรกเริ่มกันเลย "ทำไมอาจารย์กบถึงเรียนเยอะขนาดนี้"คะ
"ที่ผมเรียนเยอะเพราะได้ทุนเรียนฟรี นโยบายของผมคือเสียตังค์ไม่เรียน ยิ่งเรียนก็รู้ว่าตัวเองยิ่งไม่รู้อะไรเยอะ สำหรับผมแล้วการเรียนปริญญาโทก็ไม่เรียนเริ่มต้นจากศูนย์เพราะเรียนจากระดับปริญญาตรีไปแล้ว
การไปเรียนต่อต่างประเทศต้องถามว่าตัวเราเองชอบที่จะอยู่เมืองไหนด้วย เช่นถ้าหากเป็นประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทางฝั่งตะวันออกนิวยอร์คกับฝั่งแอลเอ และซานฟรานซิสโก เป็นเป็นคนละบรรยากาศ ตอนแรกผมจะไปเรียนที่นิวยอร์ค แต่ว่าเพื่อนไปเรียนที่นั่นเยอะมากก็เลยย้ายไปเรียนที่ฝั่งแอลเอ
การพูดภาษาอังกฤษครั้งแรกของผมเลย ก็คือตอนขึ้นเครื่องบิน แต่ในปัจจุบันโชคดีเพราะมีหลักสูตรอินเตอร์ เมื่อไปเรียนใหม่ ๆ ภาษาอังกฤษเป็นปัญหาอย่างมากเพราะผมเรียนทางด้านสถาปัตย์ ต้องอธิบายความคิดออกมาให้ได้ ผมต้องขยันเยอะมาก ถึงอย่างไรก็ตามถ้าหากใครอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นถ้าเก่งน้อยก็จะเป็นเก่งเยอะขึ้น
ผมนึกถึงวันเดินทางไปแรก ๆ ก็อยากจะร้องไห้ มาคิดดูอีกที ก็ไม่ได้มีใครผลักใสไล่ส่งให้มา เราอยากมาเอง พ่อแม่ก็ไม่อยากให้มาเรียนเพราะไม่อยากให้ไปใช้ชีวิตลำบาก จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ลำบากอย่างที่คิดมาก เพียงแต่เราต้องทำงานให้มากกว่าฝรั่งพูดเยอะ ๆ ในวิชาสัมมนา แสดงบทบาทในชั้นเรียน พวกนักเรียนอเมริกันก็ไม่ได้เตรียมตัวเยอะเพราะว่าเป็นภาษาของเรา เขาคิดอะไรเขาก็พูดออกไป เราซะอีกถ้าเราไม่อ่านหนังสือและไม่เตรียมตัวก็ไม่รู้จะไปพูดแสดงความคิดเห็นหน้าชั้นได้อย่างไร
การเรียนในต่างประเทศแตกต่างกับการเรียนในเมืองไทยอย่างไรบ้าง พิธีกรเอ่ยถาม
“ผมตอบได้เลยว่าการเรียนในเมืองไทยนั้นยากกว่ามาก แต่ในต่างประเทศค่อนข้างเปิดในการแสดงความคิดเห็นเพราะเขาค่อนข้างยอมรับความอาวุโสน้อยกว่าในเมืองไทย แต่ถ้าในเมืองไทยอยากจะแสดงความคิดเห็นแล้วต้องมีจิตวิทยาในการนำเสนอ "
แล้วสมัยนั้นมหาวิทยาลัยที่อาจารย์ไปเรียนมีคนไทยเยอะหรือเปล่าคะ พิธีกรถามต่อ
“อ้าวคนไทยน่าเกลียดตรงไหน “ฟังอาจารย์กบแล้วเหมือนกวน ๆ แต่ก็เป็นคำตอบที่ฟังดูแล้วขำ ๆ ดี
“ก็อยู่ที่ตัวเราครับใน สำหรับภาควิชาที่ผมเรียนก็มีคนไทยอยู่คนเดียว แต่ถ้าเป็นต่างคณะและต่างมหาวิทยาลัยก็พอมีบ้างครับ
และถ้าถามผมว่าทำไมต้องไปเรียนต่างประเทศ ทั้งที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศมาเปิดในเมืองไทยก็มี ที่เราไปเรียนเมืองนอกเพราะเราต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิต อยู่บ้านเราก็เป็นลูกแหง่ เรามีความรับผิดชอบกับตัวเองขึ้นมาในการเข้าสังคม บางครั้งเราอยู่ในสังคมที่มีแต่คนดีก็ไม่ได้ทำให้เราฉลาดขึ้นหรือว่าดีขึ้น ก็ต้องเรียนรู้เรื่องทั้งดีและร้ายซึ่งก็ต้องแยกแยะให้ออก
“แล้วปัญหาในการเรียนและอุปสรรคเป็นอย่างไรบ้างคะ” คุณอุ๊ถามต่อ
“ปัญหาของผมมีอย่างเดียวก็คือภาษาอังกฤษ พอผมอยู่ไปสักหนึ่งปีทีนี้ไม่ฝันเป็น Subtitle แล้ว ฝันเป็น Soundtrack เลย ภาษาของเขากับเราไม่เหมือนกันเพราะไวยากรณ์ต่างกัน สิ่งที่ผมพยายามจะปรับตัวให้เข้ากับภาษาอังกฤษตอนนั้นก็คือการดูรายการข่าวทีวีให้เยอะ เพราะเป็นภาษาที่เขาใช้กัน "
“แล้วเราพยายามให้เท่าเทียมด้านความรู้และการศึกษากับชาวต่างชาติอย่างไรคะ “ คุณอุ๋ย มาลินี ฉงสกุล ถามต่อ
“ผมคิดว่าคนไทยถ้าตัวต่อตัวเก่งกว่าฝรั่งอยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องปรับ เราต้องไม่รอโอกาส เมื่อเวลาตอนอยู่ที่โน่นทถ้าผมว่างก็จะไปเดินพิพิธภัณฑ์ นี่เป็นนิสัยที่ผมมีตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้วในช่วงปิดเทอม ผมก็จะขอจดหมายจากอาจารย์ไปในสถานที่ผมสนใจ ซึ่งผมจะใช้เวลาในช่วงนี้ให้ได้ความรู้มากที่สุดถ้าหากผมไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้วก็คงไม่มีโอกาส ผมเป็นพวกหิวข้อมูลอยู่ตลอดเวลา อีกส่วนหนึ่งผมทำในสิ่งที่ผมรัก ชอบเรียนแบบนี้ ซึ่งก็ไม่มีใครมาบังคับ และผมก็ต้องทำให้ได้ จริงๆ แล้วก็มีจุดเปลี่ยนแปลงที่ผมต้องตัดสินใจ ตอนที่ผมเรียนมัธยมผมสอบชิงทุน ก.พ. ซึ่งเป็นทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนด้านรัฐศาสตร์ในต่างประเทศ แต่ขณะที่ผมได้รับทุนนั้นผมก็อยากจะเรียนสถาปัตย์ ในที่สุดได้สละทุนการศึกษานั้น ผมก็เลือกเรียนสถาปัตย์ ถ้าหากตอนนั้นผมไปเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ผมก็คงไม่รุ่ง เพราะนิสัยของผมเลียคนไม่ค่อยเป็น
“แล้วจุดสำคัญอะไรคะที่จะทำให้ประสบความสำเร็จทั้งการเรียนเมืองไทยและต่างประเทศ” คุณสุลักษณา ถามต่อ
“เราต้องทำในสิ่งที่ตัวเองรักครับ ทุกวันนี้ผมยังอยากตื่นขึ้นมาเรียนหนังสืออยู่เลยครับ เพียงแต่ว่าตอนนี้แก่แล้ว ก็เลยเปลี่ยนมาทำงาน ทุกวันนี้ผมไม่อยากให้มีวันเสาร์วันอาทิตย์เลย เพราะเราทำงานก็เหมือนเราไปไปเล่นในสิ่งที่เราชอบ ตอนที่ผมเป็นเด็กก็สร้างบ้านในสนามหญ้า ปัจจุบันนี้ก็ไปสร้างบ้านในที่ของคนอื่น บทบาทและเวลาก็เปลี่ยนไป ทุกวันนี้อยากให้สิ่งที่เราคิดอยู่ในหัวเปลี่ยนมาเป็นผลงาน” อาจารย์กบตอบอย่างมั่นใจ
“แล้วรูปแบบการเรียนในอังกฤษและสหรัฐฯ ต่างกันมากน้อยแค่ไหนคะ” คุณอุ๊ อดีตนิสิต ปริญญาเอก ถามต่อ
“ระบบการศึกษาอเมริกันเน้นเรื่องเทคโนโลยีค่อนข้างมาก ผมไปเรียนที่อังกฤษ คือที่ Royal College of Art
สำหรับประเทศอังกฤษนั้นผมว่าเขาจะเน้นทางรากฐานของความคิดปรัชญาที่มาที่ไปของความคิด ด้านการออกแบบ
ขอแนะนำว่าถ้าหากเราเลือกสถาบันที่ไม่เหมาะสมกับเราก็จะไปโทษสถาบันก็ไม่ได้เพราะว่าเราเป็นคนเลือกเอง
ถ้าเราไปเลือกโรงเรียนที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม ต้องศึกษาและปรึกษากับผู้รู้หรือรุ่นพี่ให้ดี เราจะต้องเลือกเรียนกับอาจารย์ที่เราชอบ ถ้าอาจารย์เขาไม่ชอบสอนเรื่องไหน เขาก็จะไม่สอน
“ทำไมอเมริกาถึงให้ทุนกับอาจารย์ซึ่งเป็นไทยให้ไปเรียนที่อังกฤษคะ” พิธีกรถามต่อ
“ตอนไปเรียนที่สหรัฐฯ ผมก็ได้ทุนไป เมื่อผมกลับมาที่เมืองไทยผมก็ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาศิลปศาสตร์ ม.กรุงเทพ
อาจารย์ของผมที่มหาวิทยาลัย UCLA ให้ทุนการศึกษากับผมและเพื่อน ๆ ก็ยอมรับ เขาบอกว่าผมได้ความรู้จะกลับมาเมืองไทยแล้วมาทำอะไร เพื่อนๆ ในห้องเรียนผมก็ยอมรับว่าถ้าได้จบไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรก่อน
“แล้วฝรั่งเพื่อนนักเรียนและเพื่อนร่วมงานยอมรับคนไทยมากน้อยแค่ไหนคะ”
“เรื่องนี้ก็อยู่ที่ตัวเราเองครับ ฝรั่งเขาคิดว่าประเทศไทยแลนด์เราเป็นไต้หวัน ความคิดของเขาบางคร้งก็คิดว่าประเทศเรายังขี่ช้างขี่ควายอยู่ เราทำงานให้เขาได้ อย่าอ้ำอึ้ง ต้องฉะฉาน ชัดเจน เมื่อเราด้อยกว่าเขาบางเรื่อง เราต้องพยายามกว่าเขา 200-300 เท่า แต่ฝรั่งเขาก็ใจกว้าง แม้ว่าจะทะเลาะและดูถูกเรา อย่างไรแล้วถ้าเขาเห็นความสามารถของเราก็จบนะ เขาก็ให้โอกาสไม่ใช่ว่ามีความเห็นด้านใดด้านหนึ่งแล้วจะตายตัวไปเลย
“ฝากข้อคิดถึงท่านผู้ขมทางบ้านก่อนที่จะไปศึกษาต่างประเทศคะ ”
“ต้องถามตัวเองว่าชอบอะไร ศึกษาหลักสูตรอะไรตามแนวที่ตัวเองชอบ และสถานที่ตั้งของสถาบันว่าอยู่ไกลมากน้อยต้องขับรถหรือเปล่าไกลแค่ไหน บางเมืองมีแต่ทุ่งข้าวโพดเราอยุ่ได้หรือไม่ ศึกษาให้ครบ เมื่อไปถึงก็ทำให้เต็มที่ขยันให้มากกว่าฝรั่ง 200-300 เท่าแค่นั้นเองครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น